ฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: France) หรือ สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: République Française) เป็นประเทศที่มีศูนย์กลางตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ทั้งยังประกอบไปด้วยเกาะและดินแดนอื่น ๆ ในต่างทวีป ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ทอดตัวตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนถึงช่องแคบอังกฤษและทะเลเหนือ และจากแม่น้ำไรน์จนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก ชาวฝรั่งเศสมักเรียกแผ่นดินใหญ่ว่า หกเหลี่ยม (L'Hexagone) เนื่องจากรูปทรงทางกายภาพของประเทศ ประเทศฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบกึ่งประธานาธิบดี โดยยึดอุดมการณ์จากปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง
ประเทศฝรั่งเศสมีพรมแดนติดกับประเทศเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี โมนาโก อันดอร์ราและสเปน และเนื่องจากประเทศฝรั่งเศสมีดินแดนโพ้นทะเลไว้ในครอบครอง ทำให้มีอาณาเขตติดกับประเทศบราซิลและซูรินาเม (ติดกับเฟรนช์เกียนา) และเนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส (ติดกับแซ็ง-มาร์แต็ง) อีกด้วย นอกจากนั้นประเทศฝรั่งเศสยังเชื่อมกับสหราชอาณาจักรทางอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษอีกด้วย
ประเทศฝรั่งเศสเคยเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 จักรวรรดิฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศจักรวรรดินิยมที่มีอาณานิคมในครอบครองมากที่สุดในโลก แผ่อาณาเขตตั้งแต่แอฟริกาตะวันตกจนถึงเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเห็นได้ชัดจากอิทธิพลทางวัฒนธรรม ภาษาและการเมืองการปกครองของดินแดนนั้น ๆ ประเทศฝรั่งเศสถูกจัดให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประเทศฝรั่งเศสยังเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกว่า 82 ล้านคนต่อปี ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรปและมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอีกด้วย ประเทศฝรั่งเศสยังเป็นประเทศผู้ก่อตั้งสหประชาชาติ เป็นสมาชิกประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสโลก จีแปด นาโต้และสหภาพละติน ประเทศฝรั่งเศสยังเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่มีหัวรบนิวเคลียร์กว่า 360 หัวรบและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 59 แห่ง
ที่มาและประวัติของชื่อ
คำว่า ฝรั่งเศส (France) มาจากคำในภาษาละตินว่า Francia ซึ่งแปลตามตรงว่า ดินแดนของชาวแฟรงก์ (Frankland) และมีหลายทฤษฎีที่สันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า แฟรงก์ (Franks) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคำในภาษาโปรโต-เยอรมันว่า Frankon ซึ่งแปลว่า หลาว หอก หรือทวนซึ่งเป็นอาวุธของพวกแฟรงก์ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ฟรานซิสกา (Francisca)
อีกทฤษฎีหนึ่งตามหลักนิรุกติศาสตร์คือในภาษาเยอรมันโบราณ คำว่า แฟรงก์ แปลว่าอิสระ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเป็นทาส โดยคำดังกล่าวยังคงปรากฏในภาษาฝรั่งเศสปัจจุบันในรูป ฟรังก์ (Franc) ซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศฝรั่งเศสจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสกุลเงินยูโรในปี พ.ศ. 2545
ในปัจจุบันประเทศเยอรมนียังเรียกประเทศฝรั่งเศสว่า Frankreich ซึ่งแปลว่า อาณาจักรของชาวแฟรงก์ อีกด้วย
ภูมิศาสตร์
ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีปยุโรป (La Métropole หรือ France métropolitaine) ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ฝรั่งเศสก็ยังมีดินแดนที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ทะเลแคริบเบียน อเมริกาใต้ มหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกและทางใต้ มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ รวมทั้งบางส่วนในทวีปแอนตาร์กติกาอีกด้วย (การอ้างสิทธิเหนือดินแดนในแอนตาร์กติกาไม่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ ดู สนธิสัญญาแอนตาร์กติก)
ภาพถ่ายแผ่นดินใหญ่ประเทศฝรั่งเศสจากดาวเทียมในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545
ประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีปยุโรปนั้นมีพื้นที่ 543,935 ตารางกิโลเมตร (210,013 ตารางไมล์) ทำให้ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งใหญ่กว่าประเทศสเปนเพียงนิดเดียว ประเทศฝรั่งเศสมีพื้นที่ครอบคลุมลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายมาก ตั้งแต่ที่ราบชายฝั่งในภาคเหนือและตะวันตก ซึ่งติดกับทะเลเหนือและมหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ราบสูงมาซิฟซ็องทราลทางภาคใต้ตอนกลางและเทือกเขาพิเรนีสทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศฝรั่งเศสยังมีจุดที่สูงที่สุดในทวีปยุโรปตะวันตกคือ ยอดเขามงบล็อง (Mont Blanc) ซึ่งสูง 4,807 เมตร (15,770 ฟุต) ตั้งอยู่บนเทือกเขาแอลป์ บริเวณชายแดนประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี
ประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีปยุโรปยังมีแม่น้ำต่าง ๆ ที่สำคัญอีกมากมาย เช่น แม่น้ำลัวร์ แม่น้ำการอน แม่น้ำแซน และแม่น้ำโรนซึ่งแบ่งที่ราบสูงมาซิฟซ็องทราลออกจากเทือกเขาแอลป์อีกด้วย โดยไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่กามาร์ก ซึ่งเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในประเทศฝรั่งเศส (2 เมตร หรือ 6.5 ฟุต จากระดับน้ำทะเล) และยังมีกอร์ส (คอร์ซิกา) ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
พื้นที่ของประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งจังหวัดและดินแดนโพ้นทะเล (ไม่รวมดินแดนอาเดลี) คือ 674,843 ตารางกิโลเมตร (260,558 ตารางไมล์) นับเป็น 0.45% ของพื้นแผ่นดินโลกทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามประเทศฝรั่งเศสครอบครองพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะเป็นอันดับสองของโลก ด้วยเนื้อที่ 11,035,000 ตารางกิโลเมตร (4,260,000 ตารางไมล์) นับเป็น 8% ของพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะทั้งหมดในโลก ตามหลังสหรัฐอเมริกา ไปเพียง 316,000 ตารางกิโลเมตร และนำประเทศออสเตรเลียกว่า 2,886,750 ตารางกิโลเมตร
แผนที่ดินแดนของฝรั่งเศส
ประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีปยุโรปตั้งอยู่ระหว่าง 41° and 50° เหนือ บนขอบทวีปยุโรปตะวันตกและตั้งอยู่ในภูมิอากาศเขตอบอุ่นเหนือ ทางภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือมีสภาพภูมิอากาศเขตอบอุ่น แต่กระนั้นภูมิประเทศและทะเลก็มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศเหมือนกัน ละติจูด ลองจิจูดและความสูงเหนือระดับน้ำทะเลทำให้ประเทศฝรั่งเศสมีภูมิอากาศแบบคละอีกด้วย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ภาคตะวันตกส่วนมากจะมีปริมาณน้ำฝนสูง ฤดูหนาวไม่มากและฤดูร้อนเย็นสบาย ภายในประเทศภูมิอากาศจะเปลี่ยนไปทางภาคพื้นทวีปยุโรป อากาศร้อน มีมรสุมในฤดูร้อน ฤดูหนาวหนาวกว่าเดิมและมีฝนตกน้อย ส่วนภูมิอากาศเทือกเขาแอลป์และแถบบริเวณเทือกเขาอื่น ๆ ส่วนมากมักจะมีภูมิอากาศแถบเทือกเขา ด้วยอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งกว่า 150 วันต่อปีและปกคลุมด้วยหิมะกว่า 6 เดือน
ประวัติศาสตร์
ดูบทความหลักที่ ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
ชาวฝรั่งเศสสืบเชื้อสายมาจากพวกมองโกลในศตวรรษที่ 1 จากนั้นตกมาอยู่ใต้การปกครองของพวกแฟรงก์ (ชื่อประเทศ France มาจากคำว่าแฟรงก์เช่นกัน) ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ที่มีบันทึกว่าเริ่มในศตวรรษที่ 5 เมื่อพระเจ้าชาร์เลอมาญตั้งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. 843 ก็มีอาณาเขตครอบคลุมทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี
ราชสำนักฝรั่งเศสขึ้นสู่จุดสูงสุดในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งในยุคนี้ฝรั่งเศสได้เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในยุโรป และมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจศิลปะ และ วัฒนธรรม ต่อยุโรปเป็นอย่างมาก
ภาพ La Liberté guidant le peuple หรือ เสรีภาพนำประชาชน เล่าเรื่องเหตุการณ์ตอนปฏิวัติฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบกษัตริย์จนถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16ในปี ค.ศ. 1792 จึงเปลี่ยนมาใช้ระบอบสาธารณรัฐ หลังจากนั้นนโปเลียน โบนาปาร์ตได้ตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิและรุกรานประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป เมื่อนโปเลียนพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสจึงกลับมาใช้ระบบสาธารณรัฐอีกครั้ง เรียกว่ายุคสาธารณรัฐที่สอง แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะหลุยส์ นโปเลียน หลานลุงของนโปเลียนได้ยึดประเทศและตั้งจักรวรรดิที่สองอีกครั้ง
ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง ทศวรรษที่ 60 ซึ่งเป็นยุคล่าอาณานิคม จักรวรรดิฝรั่งเศสมีพื้นที่ใหญ่มาก โดยช่วงที่ใหญ่ที่สุดคือช่วงยุคทศวรรษที่ 20 ถึง 30 ซึ่งมีกว่า 12,898,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นจักรวรรดิอันดับสองของโลก รองมาจากจักรวรรดิอังกฤษ
ฝรั่งเศสได้รับความบอบช้ำอย่างหนักจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง ปัจจุบันใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีทั้งประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี (เรียกยุคสาธารณรัฐที่ห้า) ทศวรรษที่ผ่านมาฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นผู้นำของการรวมตัวตั้งประชาคมยุโรป ซึ่งพัฒนามาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน
ฝรั่งเศสยังเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง
การเมือง[แก้]
สาธารณรัฐฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แบบสาธารณรัฐเดี่ยวกึ่งประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2501 โดยผ่านการลงประชามติ สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญนั้นคือการเพิ่มอำนาจประธานาธิบดี อำนาจฝ่ายบริหารนั้นถูกแบ่งออกและมีหัวหน้า 2 คน ซึ่งก็คือประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงแบบสากล มีวาระ 5 ปี (เดิม 7 ปี) มีตำแหน่งประมุขแห่งรัฐอีกด้วย และนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรัฐบาล ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
รัฐสภาฝรั่งเศสนั้นแบ่งออกเป็น 2 สภาได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (Assemblée Nationale) และ วุฒิสภา (Sénat) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนในเขตเลือกตั้ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 5 ปี สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีและเสียงข้างมากในสภาสามารถกำหนดการตัดสินใจของรัฐบาลอีกด้วย สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกของคณะผู้เลือกตั้ง มีวาระ 6 ปี (เดิม 9 ปี)
การแบ่งเขตการปกครอง
ดูบทความหลักที่ หน่วยการบริหารของประเทศฝรั่งเศส
ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ (Metropolitan France - "France métropolitaine, la Métropole, l'Hexagone") แบ่งการปกครองออกเป็น
22 แคว้น (regions - régions) ได้แก่
อาลซัส (Alsace)
อากีแตน (Aquitaine)
โอแวร์ญ (Auvergne)
บัส-นอร์ม็องดี (Basse-Normandie)
บูร์กอญ (Bourgogne)
เบรอตาญ (Bretagne)
ซ็องทร์ (Centre)
ช็องปาญาร์แดน (Champagne-Ardenne)
กอร์ส (คอร์ซิกา) (Corse)
ฟร็องช์-กงเต (Franche-Comté)
โอต-นอร์ม็องดี (Haute-Normandie)
อีล-เดอ-ฟร็องส์ (Île-de-France)
ล็องก์ด็อก-รูซียง (Languedoc-Roussillon)
ลีมูแซ็ง (Limousin)
ลอแรน (Lorraine)
มีดี-ปีเรเน (Midi-Pyrénées)
นอร์-ปาดกาแล (Nord-Pas-de-Calais)
เปอีเดอลาลัวร์ (Pays de la Loire)
ปีการ์ดี (Picardie)
ปัวตู-ชาร็องต์ (Poitou-Charentes)
พรอว็องซาลป์โกตดาซูร์ (Provence-Alpes-Côte d'Azur)
โรนาลป์ (Rhône-Alpes)
โดยในแต่ละแคว้นแบ่งออกเป็น จังหวัด (départements) รวมทั้งหมด 96 จังหวัด
นอกจากในทวีปยุโรปแล้ว ประเทศฝรั่งเศสยังมีเขตการปกครองโพ้นทะเล (Overseas) อยู่ในทวีปต่าง ๆ ทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา แอนตาร์กติกา และภูมิภาคโอเชียเนียอีก ได้แก่
Départements+régions (France).svg
5 จังหวัดโพ้นทะเล (Départements d'outre-mers: DOM) ได้แก่ กัวเดอลุป (Guadeloupe) เฟรนช์เกียนา (French Guiana) มาร์ตีนิก (Martinique) เรอูว์นียง (Réunion) และ มายอต (Mayotte) ทั้งห้าดินแดนมีฐานะเดียวกับแคว้นในฝรั่งเศสภาคพื้นทวีป (อย่างเดียวกับฮาวายที่มีฐานะเท่าเทียมกับรัฐอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา) กล่าวคือ เป็นทั้งแคว้นและจังหวัดในเวลาเดียวกัน
4 อาณานิคมโพ้นทะเล (Collectivités d'outre-mer) ได้แก่ แซงปีแยร์และมีเกอลง (Saint Pierre and Miquelon) วาลลิสและฟุตูนา (Wallis and Futuna) แซ็งบาร์เตเลมี (Saint Barthélemy) และแซ็งมาร์แต็ง (Saint Martin)
1 ประเทศโพ้นทะเล (Pays d'outre-mer: POM) ดินแดนแห่งเดียวของฝรั่งเศสที่ได้รับการเรียกชื่อนี้คือ เฟรนช์โปลินีเซีย (French Polynesia) ซึ่งเคยเป็นดินแดนโพ้นทะเล (TOM) มาก่อน แต่ได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2546 โดยแบ่งออกเป็น 5 เขตบริหารย่อย
1 อาณานิคมพิเศษ (Collectivité sui generis) คือ นิวแคลิโดเนีย (New Caledonia) เคยมีฐานะเป็นดินแดนโพ้นทะเลมาจนถึงปี พ.ศ. 2542 จึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะ แบ่งออกเป็น 3 จังหวัด (provinces) ได้แก่ จังหวัดนอร์ ซูด และอีลลัวโยเต
1 ดินแดนโพ้นทะเล (Territoires d'outre-mer: TOM) คือ เฟรนช์เซาเทิร์นและแอนตาร์กติกแลนส์ (French Southern and Antarctic Lands) โดยแบ่งออกเป็น 4 เขต (districts) ได้แก่ หมู่เกาะแกร์เกแลน (Kerguelen Islands) หมู่เกาะครอเซ (Crozet Islands) เกาะอัมสเตอร์ดัมและเกาะแซ็ง-ปอล (Amsterdam Island and Saint Paul Island) และอาเดลีแลนด์ (Adelie Land)
ดินแดน 5 เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งไม่มีผู้อาศัยอยู่อย่างถาวร รู้จักกันในชื่อ หมู่เกาะกระจายหรืออีลเซปาร์ส (Îles Éparses) ได้แก่ บาซัสดาอินเดีย (Bassas da India) ยูโรปา (Europa) ฌุอ็องเดอนอวา (Juan de Nova) โกลรีโอโซ (Glorioso) และตรอมแล็ง (Tromelin) ทั้งหมดถูกปกครองโดยจังหวัดโพ้นทะเลเรอูว์นียง
เกาะที่ไม่มีผู้อาศัย 1 แห่ง คือ เกาะกลีแปร์ตอน (Clipperton) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้ชายฝั่งประเทศเม็กซิโก ปกครองโดยข้าหลวงใหญ่สาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำท้องถิ่นโพ้นทะเลเฟรนช์โปลินีเซีย
เศรษฐกิจ
ประเทศฝรั่งเศสทั้งประเทศพึ่งอยู่กับพลังงานนิวเคลียร์ (เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กอลเฟค)
เมื่อดูจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ประเทศฝรั่งเศสนับเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก ประเภทของอุตสาหกรรมที่เป็นที่มาของความสำเร็จดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมทางด้านการขนส่ง โทรคมนาคม อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยา รวมไปถึงภาคธนาคาร การประกันภัย การท่องเที่ยว และสินค้าฟุ่มเฟือย (เครื่องหนัง เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำหอมและเหล้า)
ในปี พ.ศ. 2547 ประเทศฝรั่งเศสเสียเปรียบดุลการค้าถึง 6.6 พันล้านยูโร ถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกทางด้านสินค้าทุน (ส่วนมากจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์) และเป็นอันดับ 2 ในส่วนของภาคบริการและทางด้านเกษตรกรรม (โดยเฉพาะธัญพืชและอุตสาหกรรมอาหาร) ส่วนในระดับภูมิภาคยุโรป ประเทศฝรั่งเศสนับเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าการเกษตรรายใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปคิดเป็นร้อยละ 70 (ร้อยละ 50 เฉพาะประเทศในโซนยูโร)
ในด้านการลงทุน ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้เพราะผู้ลงทุนพอใจในคุณภาพของแรงงานชาวฝรั่งเศส การค้นคว้าวิจัยขั้นสูง เทคโนโลยีชั้นสูงที่ก้าวหน้ามาก เสถียรภาพของค่าเงิน และการควบคุมต้นทุนการผลิต
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (PIB) ปี พ.ศ. 2547 มีมูลค่า 1,648.4 พันล้านยูโร
อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปี พ.ศ. 2549 คิดเป็นร้อยละ 2
รายได้เฉลี่ยต่อหัว 30,100 ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. 2549)
อัตราเงินเฟ้อคิดเป็นร้อยละ 2.0 (ปี พ.ศ. 2549)
ดุลการค้าขาดดุลมีมูลค่า 6.6 พันล้านยูโร (พ.ศ. 2547)
ประเทศฝรั่งเศสยังเป็นประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา (59 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ใน 19 โรงงานปรมาณูทั่วประเทศ) การผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศ 88% มาจากพลังงานนิวเคลียร์ ค่าไฟฟ้าในประเทศราคาถูกกว่าประเทศใกล้เคียง จึงมีการส่งออกกระแสไฟฟ้าไปยังประเทศอื่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น